วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552


โรงเรียนบ้านหนองบัว
วิสัยทัศน์ (Vision)
สถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองบัว มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม เน้นความซื่อสัตย์ สุจริต มีระเบียบวินัย มีสุขภาพร่างกาย สมบูรณ์ แข็งแรง และส่งเสริมการเรียนร่วมของเด็กพิเศษ ใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ดี มีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องพร้อมพัฒนาร่วมกับชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
พันธกิจ (Assign Mission)
1. สถานศึกษามุ่งสอนให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม โดยมุ่งเน้นมีความซื่อสัตย์สุจริตมีระเบียบวินัย ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
2. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนนำทักษะทั้ง 4 ด้าน การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
3. จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจและห่างไกลจากสิ่งเสพติด
4. จัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ร่มรื่น สวยงาม น่าอยู่ น่าดู น่าเรียน เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชน
5. ส่งเสริมให้บุคลากรในโรงเรียนมีการศึกษา อบรม และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ
6. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
7. จัดการศึกษาให้กับเด็กพิเศษได้เรียนรู้ตามศักยภาพ
เป้าหมาย ( Goal )
1.นักเรียนร้อยละ 80 ของสถานศึกษา มีคุณธรรม จริยธรรม ด้านความซื่อสัตย์ สุจริต และมีระเบียบวินัย ภายใต้การปกครองระบบประชาธิปไตยโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
2.นักเรียนร้อยละ 60 สามารถใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารได้อย่างเหมาะสมและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับคุณภาพ 2
3.นักเรียนร้อยละ 80 มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจและปลอดจากสิ่งเสพติด
4.โรงเรียนมีสภาพแวดล้อม ร่มรื่น สวยงาม เอื้อต่อการจัดกิจกรรม และเป็นแบบอย่างแก่ชุมชน
5.บุคลากรในโรงเรียนเข้ารับการอบรบเพื่อพัฒนาตนเองอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง
6.ร่วมกับชุมชนจัดกิจกรรมและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ
7. เด็กพิเศษมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ตามศักยภาพของตนเอง

ปรัชญาของโรงเรียนบ้านหนองบัว
โรงเรียนจะจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองนโยบายของทางราชการ และให้เป็นไปตามข้อกำหนดของหลักสูตรและความต้องการของท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นคนดี เป็นคนเก่ง และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข บนพื้นฐานของวิถีชีวิตแบบไทยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหนองบัวมีเนื้อที่ 40 ไร่ 72 ตารางวา ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันในปีการศึกษา 2552 มีข้าราชการครู พนักงานราชการและครูอัตราจ้างปฏิบัติการสอนจำนวน 30 คน และครูอัตราจ้างที่อยู่ในความดูแลของคริสตจักรโรมันคาธอลิก จำนวน 7 คน มีนักเรียนทั้งหมด 907 คน

สภาพทั่วไปของโรงเรียนบ้านหนองบัว
สภาพภูมิศาสตร์
โรงเรียนบ้านหนองบัว ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อยู่ห่างจากอำเภอท่าสองยางประมาณ 32 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเป็นเขตติดต่อแนวชายแดนประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยมีแม่น้ำเมยเป็นแนวกั้นเขตแดน
สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของโรงเรียนบ้านหนองบัว เป็นภูเขา โรงเรียนตั้งอยู่แนวชายแดน ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา
ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูฝนมีฝนตกชุก ฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ฤดูร้อนอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง
ประชากร
ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง 100 %
สภาพเศรษฐกิจ
สภาพทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป ประชากรมีรายได้ต่ำ เนื่องจากสภาพทางภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำมาหากิน เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และมีพื้นที่ในการเพาะปลูกน้อย ประชากรทำไร่เลื่อนลอยเป็นส่วนใหญ่ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค
สภาพการศึกษา
โรงเรียนบ้านหนองบัว ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตังแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโรงเรียนเป็นโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา โรงเรียนเครือข่ายหลักสูตรการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และโรงเรียนวิถีพุทธ

ปัญหา อุปสรรคในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านหนองบัว

1. ด้านภูมิศาสตร์
เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่ติดชายแดนไทย-สหภาพเมียนม่าร์ ประสบปัญหาเรื่องของโรคไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง และไข้เลือดออก และยังมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งของครูและนักเรียน

2. ด้านการคมนาคม
จากที่สภาพพื้นที่ติดแนวตะเข็บชายแดนและเป็นภูเขา โรงเรียนตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 ประมาณ 108 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางไปติดต่อราชการต้องใช้เวลานาน
3. ด้านการสื่อสาร
การติดต่อสื่อสารอยู่ในระดับปานกลาง แต่มีปัญหาในเรื่องภาษาในท้องถิ่นทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอนของครู
4. ด้านเศรษฐกิจ
ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีอาชีพที่มั่นคง ทำให้ต้องหาเลี้ยงชีพเป็นวันๆไป ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ต่อลูกหลานของตนเอง ทำให้เกิดปัญหากับนักเรียน เช่น การขาดเรียน และการออกกลางคัน
5. ด้านสังคม
มีความแตกต่างทางด้านภาษาในการสื่อสาร และวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ทำให้การจัดการศึกษาทำได้ไม่เต็มที่
6. ด้านสาธารณูปโภค
น้ำดื่มและน้ำใช้ไม่เพียงพอ ไม่มีบ่อกักเก็บน้ำ มีการขาดแคลนน้ำในฤดูร้อน
7. ด้านสุขภาพอนามัย
ในพื้นที่มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออกและโรคเท้าช้าง ทำให้นักเรียนเป็นโรคไข้มาลาเรีย เกิดปัญหาในการมาเรียนของนักเรียน
8. ด้านบุคลากร
เนื่องจากโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก มีครูไม่เพียงพอทำให้การจัดการศึกษาไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่โรงเรียนได้ตั้งเป้าหมาย


ระบบสารสนเทศกับการพัฒนาสภาพการศึกษาในโรงเรียนและชุมชนของเรา
ข้อมูลสารสนเทศมีความสำคัญมาช้านาน ยิ่งในยุคปัจจุบันและอนาคต ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพราะในยุคนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคข้อมูลข่าวสารมีความรวดเร็ว แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง จนสามารถรับรู้กันได้ทันทีทั่วโลก เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศถึงขีดที่จะช่วยประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว และส่งผ่านไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างทันที เทคโนโลยีได้อาศัยวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคมนำสมัยเป็นตัวนำ ในทางการศึกษาเองก็มองเห็นความสำคัญของระบบข้อมูลและสารสนเทศมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นส่วนสำคัญสูงยิ่งต่อการตัดสินใจในการดำเนินงานต่างๆ ช่วยให้การตัดสินใจถูกต้อง วางแผนดำเนินงานได้เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ข้อมูล (Data) หมายถึง กลุ่มตัวอักขระที่เมื่อนำมารวมกันแล้วมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีความสำคัญควรแก่การจัดเก็บเพื่อนำไปใช้ในโอกาสต่อๆ ไป ข้อมูลมักเป็นข้อความที่อธิบายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ อาจเป็นตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สามารถนำไประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับการสรุป คำนวณ จัดเรียง หรือประมวลผลแล้วจากข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบตามหลักวิชา จนได้เป็นข้อความ เพื่อนำมา เผยแพร่และใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
ระบบสารสนเทศ หมายถึง กลุ่มขององค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์กันซึ่งทำการรวบรวมประมวลผล,เก็บรักษา และ กระจายสารสนเทศออกไป เพื่อสนับสนุน การควบคุม, การวิเคราะห์, การตัดสินใจ และการวางแผนที่เกิดขึ้นภายในองค์กร กิจกรรมที่เกิดขึ้นในระบบสารสนเทศ ได้แก่ การนำเข้า,การประมวลผล และการนำออก โดยการนำเข้าจะรับและรวบรวมข้อมูลดิบภายในองค์กร หรือ จากสภาพแวดล้อมภายนอก การประมวลผลจะเปลี่ยนข้อมูลดิบ ไปอยู่ในรูปแบบที่มีความหมาย หรือเป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน และการนำออก จะนำเอาสารสนเทศที่ได้นั้นไปยังผู้ใช้ หรือ ไปยังกิจกรรมที่ใช้งานสารสนเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ระบบสารสนเทศยังต้องการสิ่งป้อนกลับ (Feedback) เป็นสิ่งออกที่ย้อนกลับไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมของระบบเพื่อช่วยในการประเมิน และแก้ไข ขั้นตอนนำเข้า หรือประมวลผล
สารสนเทศที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ประกอบด้วย
1. ระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา

2. ระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับผู้เรียน

3. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานวิชาการ

4. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา

เป็นการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศพื้นฐานทางการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งสามารถสืบค้นได้ตามหมวดหมู่ เพื่อให้ผู้บริหาร ผู้เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการพิจารณาวางแผนพัฒนา ปรับปรุงการจัดการศึกษาของโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจำเป็นสำหรับระบบสารสนเทศพื้นฐาน ได้แก่
1. ข้อมูลสถานศึกษา เป็นข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา เช่น
1) ประวัติโรงเรียน
2) ข้อมูลอาคารเรียน อาคารประกอบ สภาพภูมิประเทศ
3) ข้อมูลชุมชน รายได้ผู้ปกครอง
4) ภูมิปัญญาท้องถิ่น
5) จุดเด่น จุดด้อย เกียรติประวัติ ของโรงเรียน
6) ข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับภาพรวมของโรงเรียน
7) สภาพเศรษฐกิจการเมือง สังคม ความต้องการของชุมชน
8) สภาพการบริหารและการจัดการตามโครงสร้างและภารกิจ
9) ปฏิทินปฏิบัติงานของสถานศึกษา กิจกรรมประจำวันของสถานศึกษา


2. ข้อมูลนักเรียน เป็นข้อมูล
1) ข้อมูลเกี่ยวกับเขตบริการการสำมะโนนักเรียน
2) ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการนักเรียนขาดแคลน เช่น เสื้อผ้า เครื่องเขียน แบบเรียนอาหารกลางวัน

3) ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการด้านสุขภาพอนามัย

4) ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการแนะแนว ทุนการศึกษา
5) สถิติการมาเรียนของนักเรียน

6) จำนวนและอัตราซ้ำชั้นของนักเรียนจำนวนและอัตราการออกกลางคันของนักเรียน
7) การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน


3. ข้อมูลบุคลากร เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ
1) ข้อมูลรายละเอียดใน ก.พ.7 และแฟ้มประวัติข้าราชการ ลูกจ้างประจำ,ชั่วคราว

2) ข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะเชิงคุณภาพทางการศึกษา เช่น วุฒิการศึกษา ความถนัด ความสามารถพิเศษ สถานที่พักอาศัย การเดินทาง การศึกษาและประสบการณ์ สถานภาพครอบครัว

3) ข้อมูลพื้นฐานของบุคลากร เช่น ภูมิลำเนาเดิม ระดับชั้น เงินเดือน อายุราชการ ความดีความชอบ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประวัติทางวินัย
4) วินัยและการรักษาวินัย การลาของบุคลากร

5) การพัฒนาตนเองของบุคลากร การเผยแพร่และแสดงผลงานของบุคลากร เป็นต้น


4. ข้อมูลอาคารสถานที่ เช่น

1) จำนวนอาคารเรียนและอาคารประกอบ เกี่ยวกับ รูปแบบ ขนาด อายุ งบประมาณการก่อสร้าง สภาพของอาคาร จำนวนห้องเรียน
2) ครุภัณฑ์โรงเรียน
3) พื้นที่โรงเรียนและพื้นที่ใช้ประโยชน์
4) สภาพพื้นที่
5) กรรมสิทธิ์ที่ดิน
6) ข้อมูลด้านสาธารณูปโภค

ระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน ระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียน ได้แก่โปรแกรม Smis เช่น ข้อมูลพื้นฐาน/ประวัตินักเรียน ครอบครัว ผู้ปกครอง ภาวะโภชนาการ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ผลงานและการแสดงออกของผู้เรียน

ระบบสารสนเทศทางวิชาการ ที่มีความต้องการสูง ได้แก่ ข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวกับหลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินผลการเรียน และการพัฒนาบุคลากร
1. ด้านหลักสูตร เช่น
1) สภาพแวดล้อมของชุมชน ได้แก่ สภาพทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ระบบนิเวศวิทยา มลภาวะ
2) สภาพทางเศรษฐกิจของชุมชน ได้แก่ อาชีพ รายได้ ความเป็นอยู่ ศาสนา การดำเนินชีวิต บริษัท ห้างร้าน แหล่งพลังงาน
3) สภาพทางสังคมของชุมชน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานด้านประชากร การศึกษา ความสัมพันธ์ในชุมชน ฐานะทางสังคม ประวัติความเป็นมา ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยมต่างๆ สถานที่สำคัญ ได้แก่ สถานที่สำคัญทางศาสนา ทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว บุคคลสำคัญในชุมชน
4) หลักสูตรแกนกลาง สาระของหลักสูตรที่สถานศึกษาจัดทำ และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา
5) สาระสำคัญอื่นๆ ในเอกสารประกอบหลักสูตร
6) โครงการสำคัญที่เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน
7) ผลการใช้หลักสูตร
2. ด้านการเรียนการสอน เช่น
1) แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน
2) ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
3) ระบบสื่อการเรียนการสอนในสถานศึกษา
4) สื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ
5) หลักการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
6) เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ
7) ระบบห้องสมุด
8) ผลการวิจัยในชั้นเรียน
3. ด้านการวัดและประเมินผล เช่น
1) ผลการประเมินกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2) ผลการประเมินด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์
3) ผลการประเมินด้านการอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียนสื่อความ
4) เครื่องมือ วิธีการ เทคนิคเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียน
5) ระเบียบ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการวัดและประเมิน


ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ
ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ เป็นระบบสารสนเทศที่ต้องมีการประมวลผลรวม มีการเปรียบเทียบข้อมูลอย่างถูกต้องและทันสมัยจึงมีความหมายต่อการจัดการและการบริหารงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างรายงานของระบบสารสนเทศ เช่น สภาพการบริหารและการจัดการ ความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ ภารกิจและเป้าหมายการพัฒนา สภาพและบรรยากาศการเรียนรู้ ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาวิชาชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน อัตราส่วนระหว่างจำนวนนักเรียนต่อครู อัตราส่วนระหว่างจำนวนนักเรียนต่อห้อง และอื่น ๆ เช่น
1) งบประมาณที่ได้รับจัดสรร แผนการใช้จ่ายงบประมาณ
2) เงินรายได้สถานศึกษา ทรัพย์สินของโรงเรียน
3) แบบฟอร์ม ระเบียน ทะเบียน สถิติในการบริหารงานทั้ง 4 ด้าน
4) บัญชีการเงินประเภทต่างๆ
5) การบริหารพัสดุ และสินทรัพย์ของสถานศึกษา
6) เงินสวัสดิการต่างๆ จำแนกตามประเภท/จำนวน
7) ข้อมูลด้านสารบรรณ การรับ ส่งหนังสือราชการ ระบบงานธุรการ
8) ข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการตรวจเอกสาร การนิเทศ การเยี่ยม สมุดหมายเหตุ เป็นต้น
ระบบข้อมูลสารสนเทศที่ดี
คุณสมบัติที่ดีของระบบข้อมูลและสารสนเทศ มีดังนี้
1) เรียกใช้ได้ง่ายรวดเร็ว (Accessibility)
2) ทันต่อเหตุการณ์ (Timeliness)
3) ถูกต้องแม่นยำ (Accuracy)
4) ตรวจสอบได้ (Verifiability)
5) ครบถ้วนสมบูรณ์ ครอบคลุม (Comprehensiveness)
6) สามารถนำไปใช้ได้หลายสถานการณ์ (Flexibility)
7) ตรงกับความต้องการ (Relevance)
8) ชัดเจน (Clarity)
การนำระบบสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาการศึกษา ระบบข้อมูลสารสนเทศมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ ดังนี้
1) ด้านการวางแผน สามารถนำสารสนเทศไปใช้ในการวางแผนเกี่ยวกับการจัดการองค์กร การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารวิชาการ การบริหารงานทั่วไป และการบริหารงบประมาณ
2) ด้านการตัดสินใจ สามารถนำสารสนเทศไปใช้ในการตัดสินใจ เพื่อเลือกแนวทางหรือทางเลือกที่มีปัญหาน้อยที่สุด ในการแก้ปัญหาต่างๆ การมีสารสนเทศที่สมบูรณ์ ทันสมัย และครบถ้วน จะช่วยให้การตัดสินใจถูกต้อง รวดเร็ว และมีในส่วนของสถานศึกษา การมีสารสนเทศที่เป็นระบบ ก็มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความสำคัญของการจัดการสารสนเทศอย่างมีระบบ ทำให้สามารถมีข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านต่าง ๆ ผู้บริหารจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ว่าต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบทั้งในระดับปฏิบัติการ ระดับจัดการและระดับกลยุทธ์ เพราะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
สถานศึกษาที่มีระบบสารสนเทศที่สมบูรณ์ ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน เรียกใช้ได้สะดวกและตรงตามความต้องการ จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถดำเนินงานพัฒนาคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างความมั่นใจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักวิชา หลักฐานข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ มีกระบวนการวิเคราะห์และประมวลผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลักตรรกและความสมเหตุสมผล เพราะสารสนเทศทั้งหลายนั้นนอกจากจะใช้ในการวางแผนการดำเนินงานและประกอบการตัดสินใจแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาแนวความคิด และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการดำเนินการต่างๆ โดยระบบสารสนเทศที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยลดอัตราการเสี่ยงความผิดพลาด ทำให้การตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องมีความสมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้ รวมทั้งทำให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าก่อนซึ่งย่อมได้เปรียบคู่แข่ง